วันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2554

ความหมายของจิตวิทยา

จิตวิทยาคืออะไร?

คำว่า “จิตวิทยา” เป็นคำที่เข้าใจได้ยากและถูกเข้าใจผิดโดยคนส่วนใหญ่อยู่เสมอ สมัยที่ผมเอนทรานซ์และเลือกเรียนจิตวิทยา ผมคิดว่าจิตวิทยาน่าจะเป็นศาสตร์ที่ศึกษาเพื่ออ่านใจคน หรือไม่ก็เป็นการฝึกฝนพลังอำนาจทางจิต แต่พอได้เข้ามาเรียนแล้ว ผมพบว่าความเข้าใจของผมค่อนข้างจะห่างไกลจากความเป็นจริงอยู่พอสมควร และผมไม่ได้เป็นคนเดียวที่มีความเข้าใจผิดเช่นนี้
จากการได้พูดคุยกับผู้คนจำนวนมาก ผมพบว่าพวกเขาเองก็มีทัศนะต่อจิตวิทยาไม่ต่างอะไรกับผม เมื่อรู้ว่าผมร่ำเรียนจิตวิทยามา บ้างก็บอกว่าให้ผมทายว่าเขากำลังคิดอะไรอยู่ บ้างก็บอกว่าช่วยสะกดจิตให้ดูที ซึ่งผมก็ต้องอธิบายให้พวกเขาเข้าใจว่า “ผมไม่ใช่หมอดูนะครับ”
คำว่า “จิตวิทยา” (Psychology) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีกจากคำว่า “Psyche” ที่แปลว่า “จิตใจ หรือจิตวิญญาณ” กับคำว่า “logos” ที่แปลว่า “การศึกษา” ดังนั้นความหมายของจิตวิทยาในยุคแรกเริ่มก็คือ “ศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับจิตใจ”
ต่อมาความหมายของจิตวิทยาในการรับรู้ของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ขึ้นอยู่กับแนวคิดที่มีอิทธิพลต่อนักจิตวิทยาหรือความสนใจของนักจิตวิทยาในยุคนั้นๆ เช่น ในยุคที่แนวคิดเรื่องจิตไร้สำนึกเป็นที่สนใจ จิตวิทยาก็ถูกมองว่าการศึกษาเกี่ยวกับจิตไร้สำนึก แต่ในยุคที่สำนักพฤติกรรมนิยมเป็นใหญ่ ความหมายของจิตวิทยาก็เปลี่ยนไปเป็นการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จิตวิทยาในแต่ละยุคก็ไม่ได้มีความหมายโดดๆ เพียงอย่างเดียว เพราะแนวคิดทางด้านจิตวิทยาจำนวนมากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่คาบเกี่ยวกัน จนกระทั่งปัจจุบันที่แนวคิดและความสนใจของนักจิตวิทยามีความหลากหลายอย่าง ยิ่งจนไม่อาจจำกัดเอาไว้ด้วยความหมายใดความหมายหนึ่งโดยเฉพาะ
สมาคมจิตวิทยาอเมริกา (American Psychological Association: APA) องค์กรทางด้านจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลกให้ความหมายของจิตวิทยาไว้ว่า: “การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับพฤติกรรมและกระบวนการทางจิตของปัจเจกบุคคล” พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ จิตวิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับความคิด อารมณ์ และพฤติกรรมของมนุษย์โดยใช้วิธีการที่เป็นวิทยาศาสตร์ เช่น การศึกษาเรื่องกระบวนการเรียนรู้ การศึกษาลักษณะของบุคลิกภาพ การศึกษาพัฒนาการแต่ละช่วงวัยของบุคคล เป็นต้น
ทุกวันนี้สมาคมจิตวิทยาอเมริกันมีการศึกษาทางจิตวิทยามากถึง 56 สาขา ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์มากมาย เช่น การศึกษา สุขภาพ กีฬา สังคม การเมือง ศาสนา ฯลฯ ไม่ใช่การอ่านใจคนหรือฝึกฝนพลังอำนาจทางจิตอย่างที่ผมและหลายๆ คนเคยเข้าใจ
เมื่อไม่นานมานี้ มีกรณีน่าสนใจที่นักศึกษาสาวจิตวิทยาคนหนึ่งตกเป็นข่าวว่าใช้จิตวิทยาหมู่ล่อลวงนายแพทย์หนุ่มใหญ่เจ้าของโรงเรียนกวดวิชาเพื่อหลอกเอาเงิน ทำให้สื่อมวลชนหันมาให้ความสนใจกับจิตวิทยากันมากทีเดียวว่าสามารถทำเช่นนั้นได้จริงหรือไม่ ผมไม่อยากตอบเองครับว่าทำได้หรือไม่ มาฟังคำตอบจากคณะบดีต้นสังกัดของนักศึกษาสาวผู้นั้นดีกว่าครับ ท่านบอกว่า “หากคนเรียนจิตวิทยาแล้วสามารถทำแบบนี้ได้ ผมว่าคนคงหันมาเรียนจิตวิทยากันหมดแล้ว”
จิตวิทยาเป็นการศึกษาเกี่ยวกับจิตใจของคนก็จริงครับ แต่ไม่ได้หมายความว่าสามารถนำไปใช้สะกดจิตหรือล่อลวงคนอื่น (ที่สื่อมวลชนเรียกว่าจิตวิทยาหมู่) โดยเจ้าตัวไม่รู้เรื่องได้ แต่จะล่อลวงด้วยวิธีการอื่นหรือไม่ อันนี้ก็ต้องติดตามกันเอาเองครับ

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More