ไฟล์เรียน

จิตวิทยาการศึกษา

กระบวนการเรียนรู้
     ๑.ความมุ่งหมายของบทเรียน
     เพื่อให้เข้าใจกระบวนการพฤติกรรมและทฤษฎีการเรียนรู้ของมนุษย์ ที่นักจิตวิทยาด้านการเรียนรู้ได้ศึกษาค้นคว้าไว้ มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่จะต้องมีการปะทะสังสรรค์ (Interaction) กับบุคคลและสิ่งแวดล้อม ซึ่งในภาวะดังกล่าวนั้นทำให้บุคคลเกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ความคิด ทัศนคติและค่านิยม ฯลฯ อยู่ตลอดเวลาหรือตลอดชีวิต ซึ่งในสภาวะดังกล่าวเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มนุษย์จะต้องประสบอยู่ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตายดังนั้นบุคคลจำต้องเรียนรู้ ศึกษาเพื่อให้ตนเองเกิดการปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปอยู่ตลอดเวลาเพื่อการดำรงชีวิตที่ดีของตนเอง
     มนุษย์มีพัฒนาการของสมองและจิตที่ตอบสนองจากประสาทสัมผัสที่เกิดจากการเห็น  การได้ยิน การรู้รส การสัมผัส การได้กลิ่น ทำให้เกิดความจำ ความคิด การเปรียบเทียบ  การเรียนรู้   พัฒนาการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และสามารถสอนถ่ายทอดต่อเนื่องกันได้รวมทั้งมีความอยากรู้ อยากเห็น อยากพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลาในสภาวะของมนุษย์ที่มีสมอง จิต และสุขภาพปกติ มนุษย์จึงเป็นผู้ คิด สร้าง  ทำ  ทั้งสร้างสรรค์และทำลายไว้บนโลกใบนี้อย่างมากมายมหาศาลและต่อเนื่องกันมาจากอดีต ปัจจุบันและในอนาคตไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด
     ๒. ความหมายและขอบข่ายของการเรียนรู้
     การเรียนรู้เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ตลอดชีวิต คำจำกัดความที่นักจิตวิทยา มักจะกล่าวอ้างอยู่เสมอ  แต่ยังไม่ถึงกับเป็นที่ยอมรับกันอย่างสากล คือ คำจำกัดความของ คิมเบิล  (Gregory A Kimble) 
     คิมเบิล กล่าวว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงศักยภาพแห่งพฤติกรรมที่ค่อนข้างถาวร ซึ่งเป็นผลมาจากการฝึกหรือการปฏิบัติที่ได้รับการเสริมแรง (Learning  as  a relatively  permanent change in behavioral potentiality that occurs as a result of reinforced practice) ”
     จากความหมายของการเรียนรู้ข้างต้นแยกกล่าวเป็นประเด็นสำคัญได้  ๕ ประการ คือ
     ๒.๑  การที่กำหนดว่า การเรียนรู้คือการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็แสดงว่าผลที่เกิดจากการเรียนรู้จะต้องอยู่ในรูปของพฤติกรรมที่สังเกตได้หลังจากเกิดการเรียนรู้แล้ว ผู้เรียนสามารถทำสิ่งหรือเรื่องที่ไม่เคยทำมาก่อนการเรียนรู้นั้น
     ๒.๒  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมนั้น ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างถาวร นั่นก็คือ  พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนั้นจะไม่เป็นพฤติกรรมในช่วงสั้นหรือเพียงชั่วครู่ และในขณะเดียวกันก็ ไม่ใช่พฤติกรรมที่คงที่ที่ไม่เปลี่ยนแปลงอีกต่อไป
     ๒.๓  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไปอย่างทันทีทันใด แต่มันอาจเป็นการเปลี่ยนแปลงศักยภาพ (Potential) ที่จะกระทำ สิ่งต่าง ๆ ต่อไปในอนาคต การเปลี่ยนแปลง    ศักยภาพนี้อาจแฝงอยู่ในตัวผู้เรียน ซึ่งอาจจะยังไม่ได้แสดงออกมาเป็นพฤติกรรมอย่างทันทีทันใดก็ได้
     ๒.๔  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือการเปลี่ยนแปลงศักยภาพในตัวผู้เรียนนั้นจะเป็นผลมาจากประสบการณ์หรือการฝึกเท่านั้น  การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือศักยภาพอันเนื่องมาจากสาเหตุอื่นไม่ถือเป็นการเรียนรู้
     ๒.๕  ประสบการณ์หรือการฝึกต้องเป็นการฝึกหรือปฏิบัติที่ได้รับการเสริมแรง (Reinforced practice) หมายความว่า เพียงแต่ผู้เรียนได้รับรางวัลหลังจากที่ตอบสนอง  ก็จะให้เกิดการเรียนรู้ขึ้นในแง่นี้คำว่า รางวัลกับ ตัวเสริมแรง” (Reinforce) จะให้ความหมายเดียวกัน ต่างก็คือหมายถึงอะไรบางอย่างที่อินทรีย์ (บุคคล) ต้องการ
     ๓.ปัจจัยสำคัญในสภาพการเรียนรู้
     ในสภาพการเรียนรู้ต่างๆ ย่อมประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ ๓ ประการ ด้วยกัน คือ
        ๓.๑  ตัวผู้เรียน (Learner) 
        ๓.๒  เหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่เป็นตัวเร้า (Stimulus Situation)
        ๓.๓  การกระทำหรือการตอบสนอง Action หรือ Response
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                            
     ๔. ลำดับขั้นในกระบวนการเรียนรู้
     มูลลีย์ (George J. Mouly) กำหนดลำดับขั้นในกระบวนการเรียนรู้ไว้ ๗  ขั้น ดังนี้

     ๔.๑  เกิดแรงจูงใจ (Motivation) เมื่อใดก็ตามที่อินทรีย์เกิดความต้องการหรืออยู่ในภาวะที่ขาดสมดุลย์ก็จะมีแรงขับ (Drive) หรือแรงจูงใจ (Motive) เกิดขึ้นผลักดันให้เกิดพฤติกรรมเพื่อหา สิ่งที่ขาดไปนั้นมาให้ร่างกายที่อยู่ในภาวะที่พอดี แรงจูงใจมีผลให้แต่ละคนไวต่อการสัมผัสสิ่งเร้าแตกต่างกันเป็นสิ่งที่จะกำหนดทิศทางและความเข้มของพฤติกรรมและเป็นสิ่งจำเป็นเบื้องต้นสำหรับการเรียนรู้

     ๔.๒ กำหนดเป้าประสงค์ (Goal) เมื่อมีแรงจูงใจเกิดขึ้นแต่ละบุคคลก็จะกำหนดเป้าประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความพึงพอใจ เป้าประสงค์จึงเป็นผลบั้นปลายที่อินทรีย์แสวงหา ซึ่งบางครั้งอาจจะชัดเจน บางครั้งอาจจะเลื่อนลอย บางครั้งอาจกำหนดขึ้นเพื่อสนองความต้องการทางสรีระหรือบางครั้งเพื่อสนองความต้องการทางสังคม

    ๔.๓ เกิดความพร้อม (Readiness) คนแต่ละคนมีขีดความสามารถที่จะรับ และความต้องการพื้นฐานเพื่อที่จะเสาะแสวงหาความพอใจ หรือหาสิ่งที่จะสนองความต้องการได้จำกัดและแตกต่างกันไปตามสภาพความพร้อมของแต่ละบุคคล   เช่น  เด็กทารกซึ่งมีความเจริญทางสรีระยังไม่มากก็จะไม่พร้อมที่จะเรียนรู้วิธีการหาอาหารด้วยตนเองได้ เด็กที่ร่างกายอ่อนแอหรือมีความบกพร่องของอวัยวะบางส่วนก็จะไม่พร้อมในการเล่นกีฬาบางอย่างได้ กล่าวได้ว่าสภาพความพร้อมในการเรียนของบุคคลนั้นจะต้องอยู่กับองค์ประกอบอื่น ๆ หลายประการ อาทิเช่น   ความเจริญเติบโตของโครงสร้างทางร่างกาย  การจูงใจ  ประสบการณ์ด้วย เป็นต้น เรื่องของความพร้อมนี้นับว่าเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะต้องดีก่อนที่จะเกิดการเรียนรู้
    ๔.๔  มีอุปสรรค (Obstacle) อุปสรรคจะเป็นสิ่งขวางกั้นระหว่างพฤติกรรมที่เกิดจากแรงจูงใจกับเป้าประสงค์ ถ้าหากไม่มีอุปสรรค์หรือสิ่งกีดขวางเราก็จะไปถึงเป้าประสงค์ได้โดยง่าย ซึ่งเราก็ถือว่าสภาพการณ์เช่นนี้ ไม่ได้ช่วยให้เกิดความต้องการที่จะแก้ปัญหาและเรียนรู้ ตรงกันข้ามการที่เราไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้จะก่อให้เกิดความเครียดและจะเกิดความพยายามที่จะหาวิธีการแก้ปัญหาซึ่งจะทำให้เกิดการเรียนรู้ขึ้น
    ๔.๕  การตอบสนอง (Response) เมื่อบุคคลมีแรงจูงใจ มีเป้าประสงค์ เกิดความพร้อม และเผชิญกับอุปสรรคเข้าก็จะมีพฤติกรรมต่าง ๆ เกิดขึ้น พฤติกรรมนั้นอาจเริ่มด้วยการตัดสินใจ   เกิดอาการตอบสนองที่เหมาะสมทดลองทำแล้วปรับปรุงแก้ไขการตอบสนองนั้นให้แก้ปัญหาได้ดี ที่สุด ซึ่งแนวทางของการตอบสนองอาจมุ่งสู่เป้าประสงค์โดยตรงหรือโดยทางอ้อมอย่างใดอย่างหนึ่ง
     ๔.๖  การเสริมแรง (Reinforcement) การเสริมแรงก็หมายถึงการได้รางวัลหรือให้สิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดความพอใจซึ่งปกติผู้เรียนจะได้รับหลังจากที่ตอบสนองแล้ว ตัวเสริมแรงไม่จำเป็นต้องเป็นสิ่งของหรือวัตถุที่มองเห็นได้เสมอไป เพราะความสำเร็จ ความรู้ ความก้าวหน้า ฯลฯ ก็เป็นตัวเสริมแรงได้เช่นเดียวกัน
    ๔.๗ การสรุปความเหมือน (Generalization) หลังจากที่ผู้เรียนสามารถตอบสนองหรือหาวิธีการที่จะมุ่งสู่เป้าประสงค์ได้แล้ว เขาก็อาจจะประสงค์ใช้กับปัญหาหรือสถานการณ์ที่จะพบในอนาคตได้นั้นก็แสดงว่า ผู้เรียนเกิดความสามารถที่จะสรุปความเหมือนระหว่างสถานการณ์การเรียนรู้ที่มีมาก่อนกับปัญหาหรือสถานการณ์ที่เพิ่งจะพบใหม่ ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของพฤติกรรม การเรียนรู้ให้กว้างขวางออกไป
     ๕.ชนิดของการเรียนรู้
     แกนเย (Gane) ได้แบ่งการเรียนรู้ออกเป็น ๘ ประเภท นับตั้งแต่การเรียนรู้แบบพื้นฐานไปจนถึงการเรียนรู้ที่ซับซ้อน ดังนี้
     ๕.๑   การเรียนรู้เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ (Signal learning)
     ๕.๒   การเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง (Stimulus Response Learning) เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะเชื่อมโยง (Connection) การตอบสนองที่เหมาะสมต่อสิ่งเร้าต่าง ๆ โดยที่เมื่อได้ตอบสนองอย่างถูกต้องหรือเหมาะสมก็จะได้รับรางวัล หรือตัวเสริมแรง หรือเกิดความพอใจ หรืออยากตอบสนองเช่นนั้นซ้ำ ๆ การเรียนรู้แบบนี้ต่างจากการเรียนรู้แบบแรกเพราะการตอบสนองการเรียนรู้ในลักษณะนี้เกิดขึ้นด้วยความจงใจ ส่วนแบบแรกการตอบสนองเกิดขึ้นโดยไม่จงใจและการเรียนรู้แบบนี้จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการทางสมองที่สูงกว่า ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้ดังกล่าวอาจสรุปได้เป็นข้อ ๆ ดังนี้
       ๑) การเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งเร้า และการตอบสนองจะค่อย ๆ พัฒนาขึ้น ทีละน้อย
       ๒) การตอบสนองของผู้เรียนที่แสดงตอบโต้สิ่งเร้านั้นจะเป็นการตอบสนองที่     ผู้เรียนมีความมั่นใจมากขึ้นตามโอกาสที่ได้กระทำซ้ำ ๆ
       ๓)  การเรียนรู้แบบนี้ จะเป็นการเชื่อมโยงการตอบสนองบางอย่างต่อสิ่งเร้าเฉพาะอย่าง สิ่งเร้าอื่น ๆ จะไม่มีความหมายที่จะทำให้เกิดการตอบสนองเช่นเดียวกับที่ได้ตอบโต้สิ่งเร้าเฉพาะอย่างนั้น
       ๔ ) สิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับการเรียนรู้แบบนี้  ก็คือ รางวัลหรือตัวเสริมแรง   คือว่ารางวัลจะทำให้ผู้กระทำเกิดความพอใจ และเป็นการเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดการตอบสนองเช่นนั้นซ้ำอีกในทางตรงข้ามเราจะไม่ให้รางวัลต่อการตอบสนองที่เราไม่ต้องการ    ซึ่งจะมีผลให้การตอบสนองที่เราไม่ต้องการนั้นค่อย ๆ ลดและยุติลงในที่สุด
      จะเห็นว่าการเรียนรู้แบบนี้มีลักษณะคล้าย ๆ    กับการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูกของ
ธอร์นไดค์ (Thorndike) และการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของ สกินเนอร์ (Skinner) นั่นเอง

     ๕.๓  การเรียนรู้ด้านทักษะหรือด้านกลไก  ( Skill Learning ) หรือ (Motor  training) เป็นการเรียนรู้ทำนองเดียวกับแบบที่ ๒ แต่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะประกอบด้วยความสัมพันธ์ และการตอบสนองตั้งแต่ ๒ คู่ขึ้นไป และเห็นการเชื่อมโยงระหว่างสิ่งเร้า และการตอบสนองในรูปของการใช้กลไกของกล้ามเนื้อและทักษะ  ตัวอย่างเช่น เด็กที่จะเรียนรู้การเปิดประตูก็จะมีลำดับของกิจกรรมต่อเนื่องเป็นสายโซ่  ดังนี้     มีพวงกุญแจอยู่ในมือ เลือกลูกกุญแจที่จะใช้ขึ้นมาสอดใส่เข้าไปในลูกบิดหมุนลูกกุญแจจนหมดเสียงแกร๊กแล้วก็ผลักประตูให้เปิดออก
     
     ๕.๔  การเรียนรู้ความสัมพันธ์ด้านถ้อยคำ (Verbal Association) การเรียนรู้แบบนี้คล้ายกับแบบที่ ๓ แต่ต่างกันที่การตอบสนองต่อสิ่งเร้าในแบบที่ ๑ เป็นการใช้กลไกกล้ามเนื้อ ส่วนแบบที่ ๔ เป็นเรื่องของการใช้ถ้อยคำ  การเรียนรู้แบบนี้เป็นความสำคัญของภาวะภายในมากกว่าแบบที่ ๓
    
     ๕.๕ การเรียนรู้เพื่อแยกความแตกต่าง ( Discrimination Learning) เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนจะต้องแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งเร้า เพื่อจะตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นให้ถูกต้อง การเรียนรู้ที่จะมีเรื่องการจัดการสัมผัสเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ตัวอย่างของการเรียนรู้แบบนี้ก็ได้แก่การที่ครูซึ่งสอนในชั้นเรียนสามารถเรียกชื่อผู้เรียนแต่ละคนได้ถูกต้อง นักเรียนจะเรียนรู้ความแตกต่างของ               พืช สัตว์ และสารเคมี หรือหินชนิดต่าง ๆ  ซึ่งมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันได้  เด็กเล็ก ๆ เรียนรู้ที่จะแยกความแตกต่างของสี รูปร่างของสิ่งของ อักษร  คำ  จำนวน  สัญลักษณ์เป็นต้น
     การเรียนรู้เพื่อแยกความแตกต่างนี้อาจเป็นการเรียนรู้เพื่อแยกความแตกต่างระหว่างสายโซ่ของความสัมพันธ์ของสิ่งเร้า และการตอบสนองตั้งแต่  ๒  คู่ขึ้นไป
      
     ๕.๖  การเรียนรู้สังกัป ( Concept Learning) การเรียนรู้สังกัปเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียน จะจัดประเภทของสิ่งเร้าโดยพิจารณาจากคุณสมบัติต่าง ๆ   เกี่ยวกับสี รูปร่าง , ขนาด , จำนวน ฯลฯ เป็นหลัก ผู้เรียนต้องเรียนรู้สิ่งที่คล้ายกัน สามารถสรุปความเหมือนและแยกความแตกต่างของสิ่งเร้ามีข้อสังเกตว่าการเรียนรู้สังกัปนี้ การตอบสนองของผู้เรียนไม่ได้เป็นการเชื่อมโยงกับลักษณะทางกายภาพของสิ่งเร้าเฉพาะอย่าง หากแต่จะเป็นการเชื่อมโยงกับคุณสมบัติทางนามธรรมของสิ่งเร้านั้น ๆ    แกนเยถือว่าการเรียนรู้แบบต่างๆ ที่กล่าวมาทั้ง  ๕  ประเภทข้างต้นจะเป็นพื้นฐานสำคัญที่จำเป็นสำหรับการเรียนรู้ชนิดนี้
     ๕.๗   การเรียนรู้กฎหรือหลักการ (Rule Learning หรือ Principle Learning) กฎ (Rule) หรือหลักการ (Principle) เป็นสายโซ่ของความสัมพันธ์ของสังกัป(Concept) ตั้งแต่ ๒ อย่างขึ้นไป เช่น เมื่อเกิดสังกัปความยาวของเส้นตรง และเกิดสังกัปเกี่ยวกับความยาว ความกว้างของสี่เหลี่ยม เราก็สามารถตั้งเป็นกฎของการหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมในรูปของความสัมพันธ์ระหว่างความยาว และความกว้างได้ ตัวอย่างของกฎอื่น ๆ หรือในวิชาพีชคณิต  xa + xb = x (a + b) เป็นต้น 
     ๕.๘ การเรียนรู้การแก้ปัญหา  (Problem Solving) ในชีวิตของเรานั้นเราจะต้องคิดค้นสิ่งต่าง ๆ เพื่อตั้งเป็นกฎหรือหลักการเพื่อจะนำไปใช้ควบคุมหรือแก้ปัญหาต่างๆ ในสภาพแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่ตลอดเวลา บางครั้งมนุษย์เราก็จะนำกฎง่าย ๆ ที่มีอยู่นั้นมาสัมพันธ์กันเป็นกฎใหม่ที่ซับซ้อนขึ้น ซึ่งการรวมกันเป็นกฎใหม่ดังกล่าวนับว่าจำเป็นมากที่จะใช้ในการแก้ปัญหาใหม่ ๆ
      การแก้ปัญหา หมายถึง การคิดหรือการขยายความคิดออกไปเพื่อหากฎใหม่ ๆ  (ซึ่งอาจเกิดจากการรวมกฎที่มีอยู่ก่อนเข้าเป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบใหม่นั้นเอง) ฉะนั้นจะเห็นว่าการแก้ปัญหาเป็นการเรียนรู้ที่ต้องอาศัยความคิด การแก้ปัญหาและการคิดจึงมีความสัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก นอกจากนี้แล้วการแก้ปัญหาต้องอาศัยสังกัป (Concept) และกฎที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนเป็นพื้นฐานสำคัญ จึงสามารถแก้ปัญหาใหม่ ๆ ได้
      จะเห็นว่านักจิตวิทยาพยายามแบ่งการเรียนรู้ออกเป็นประเภทต่าง ๆ ไม่เหมือนกัน ซึ่งยังมีอีกหลายท่านที่แบ่งประเภทของการเรียนรู้แตกต่างจากที่กล่าวมา อย่างไรก็ตาม ชนิดของการเรียนรู้ที่นักจิตวิทยาส่วนใหญ่มีความเห็นพ้องกันนั้นอาจจำแนกออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ   ได้  ๔  แบบ
ด้วยกัน คือ
                ๑)การเรียนรู้สังกัป
                ๒)การเรียนรู้ทักษะ
                ๓)การเรียนรู้เจตคติ
                ๔)การเรียนรู้การแก้ปัญหา และการคิด

      ในจำนวนการเรียนรู้ทั้ง  ๔  ประเภทนี้ การเรียนรู้สังกัปและทักษะจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการเรียนรู้เจตคติความซาบซึ้ง และการเรียนรู้การแก้ปัญหาและการคิด
      - การเรียนรู้สังกัปช่วยพัฒนาบุคคลให้เกิดความรอบรู้เกี่ยวกับกฎเกณฑ์และปัญหาวิชาต่าง ๆ
      - การเรียนรู้ทักษะช่วยให้เกิดความคล่องแคล่วทางกลไก และทำให้ผลการกระทำมีประสิทธิภาพ
      - การเรียนรู้เจตคติและความซาบซึ้งจะมีผลต่ออารมณ์ความรู้สึกและแรงจูงใจนับเป็นรากฐานของการที่จะพัฒนาคนให้มีความฝักใฝ่ค้นคว้าหรือที่จะทำให้เกิดทักษะและสังกัป
      - การเรียนรู้การแก้ปัญหาและการคิดจะเป็นรากฐานที่จะพัฒนาบุคคลให้สามารถแก้ปัญหา การปรับตัวและปรุงแต่งให้เป็นบุคคลประเภทสร้างสรรค์ (Creative people) ที่สังคมปรารถนา ทฤษฎีการวางเงื่อนไข   ทฤษฎีการเรียนรู้ในกลุ่มสัมพันธ์ต่อเนื่อง ( Associative theories) นั้น อาจจำแนกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ ได้สองกลุ่มด้วยกัน คือ ทฤษฎีการวางเงื่อนไข (Conditioning theories) กับทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยง (Connectionism theories) ซึ่งในช่วงแรกนี้จะกล่าวถึงทฤษฎีการวางเงื่อนไขที่สำคัญ ๒ ทฤษฎี คือ ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของ พาฟลอฟ (Pavlov Classical Conditioning  หรือ  Type S. Conditioning)  และทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของ สกินเนอร์ (Skinner’s operant Conditioning Instrumental   Conditioning หรือ Type   S. Conditioning)
      
      ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบคลาสสิคของ พาฟลอฟ
      หลักพื้นฐานของ พาฟลอฟ คือ การตอบสนองที่เกิดจากการวางเงื่อนไข (CR)  จะเกิดขึ้นก็โดยการนำเอาสิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) มาเข้าคู่กับสิ่งเร้าที่ไม่ได้วางเงื่อนไข (UCS) ซ้ำ  ๆ หลายครั้ง ในตอนหลังเพียงแต่ให้สิ่งเร้าที่วางเงื่อนไข (CS) ก็จะมีผลให้เกิดการตอบสนองที่วางเงื่อนไข (CR) ขึ้นได้
      ๑)ประโยชน์ที่ได้รับจากทฤษฎีนี้
        ก.  ใช้ในการคิดหาความสามารถในการสัมผัสและการรับรู้
        ข.  ใช้ในการแก้พฤติกรรมที่เป็นปัญหา
        ค.  ใช้ในการวางเงื่อนไขเกี่ยวกับอารมณ์ และเจตคติ

      ๒) การนำหลักการวางเงื่อนไขของพาฟลอฟไปใช้ในการเรียนการสอน

      ก. ในแง่ของความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Differences)      ความแตกต่างทางด้านอารมณ์ผู้เรียนตอบสนองได้ไม่เท่ากัน ในแง่นี้จำเป็นมากที่ครูต้องคำนึงถึงสภาพทางอารมณ์ของผู้เรียนว่า จะสร้างอารมณ์ให้ผู้เรียนตอบสนองด้วยการสนใจที่จะเรียนได้อย่างไร

      ข.  การวางเงื่อนไข (Conditioning) การวางเงื่อนไขเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางด้านอารมณ์ด้วย โดยปกติผู้สอนสามารถทำให้ผู้เรียนชอบหรือไม่ชอบเนื้อหาที่เรียน หรือสิ่งแวดล้อมในการเรียนหรือแม้แต่ตัวครูได้ ด้วยเหตุนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าหน้าที่สำคัญประการหนึ่งของครูเป็นผู้สร้างสภาวะทางอารมณ์นั่นเอง
     ค. การลบพฤติกรรมที่วางเงื่อนไข (Extinction) ผู้เรียนที่ถูกวางเงื่อนไขให้กลัวครู  เราอาจช่วยได้โดยป้องกันไม่ให้ครูทำโทษเขา โดยปกติก็มักจะพยายามมิให้ UCS. เกิดขึ้นหรือทำให้หายไป นอกจากนี้ก็อาจใช้วิธีลดความแรงของ UCS. ให้น้อยลงจนไม่อยู่ในระดับนี้จะทำให้เกิดพฤติกรรมทางอารมณ์นั้นขึ้นได้

      ง.การสรุปความเหมือนและการแยกความแตกต่าง (Generalization และ Discrimination) การสรุปความเหมือนนั้นเป็นดาบสองคม คือ อาจเป็นในด้านที่เป็นโทษและเป็นคุณ ในด้านที่เป็นโทษก็เช่น การที่นักเรียนเกลียดครูสตรีคนใดคนหนึ่งแล้วก็จะเกลียดครูสตรีหมดทุกคน เป็นต้น ถ้าหากนักเรียนเกิดการสรุปความเหมือนในแง่ลบนี้แล้ว ครูจะหาทางลดให้ CR อันเป็นการสรุป            กฎเกณฑ์ที่ผิด ๆ หายไป ส่วนในด้านที่เป็นคุณนั้น ครูควรส่งเสริมให้มาก นักเรียนมีโอกาสพบ  สิ่งเร้าใหม่ ๆ เพื่อจะได้ใช้ความรู้และกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ได้กว้างขวางมากขึ้น
     ตัวอย่างเกี่ยวกับการสรุปความเหมือนที่ใช้ในการสอนนี้ คือ การอ่านและการสะกดคำนักเรียนที่สามารถสะกดคำว่า  “ round ”  เขาก็ควรจะเรียนคำทุกคำที่ออกเสียง O - U - N -  D  ไปในขณะเดียวกันได้ เช่นคำว่า around , found , bound , sound , ground , mound , pound แต่คำว่า wound (ซึ่งหมายถึงบาดแผล) นั้นไม่ควรเอาเข้ามารวมกับคำที่ออกเสียง O - U - N -  D  และควรฝึกให้รู้จักแยกคำนี้ออกจากกลุ่ม (Discrimination)
            
   ทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของ สกินเนอร์
      ๑) หลักการและแนวคิดที่สำคัญของ สกินเนอร์
      ก. เกี่ยวกับการวัดพฤติกรรมตอบสนอง สกินเนอร์ เห็นว่าการศึกษาจิตวิทยาควรจำกัดอยู่เฉพาะพฤติกรรมที่สามารถสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน และพฤติกรรมที่สังเกตได้นั้นสามารถวัดได้โดยพิจารณาจากความถี่ของการตอบสนองในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง หรือพิจารณาจากอัตราการ               ตอบสนอง (Response rate) นั่นเอง
      ข.อัตราการตอบสนองและการเสริมแรง  สกินเนอร์ เชื่อว่าโดยปกติการพิจารณาว่าใครเกิดการเรียนรู้หรือไม่เพียงใดนั้นจะสรุปเอาจากการเปลี่ยนแปลงการตอบสนอง (หรือพูดกลับกันได้ว่าการที่อัตราการตอบสนองได้เปลี่ยนไปนั้น แสดงว่าเกิดการเรียนรู้ขึ้นแล้ว) และการเปลี่ยนแปลงอัตราการตอบสนองจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการเสริมแรง (Reinforcement) นั้นเอง สิ่งเร้านี้สามารถทำให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนแปลง เราเรียกว่าตัวเสริมแรง (Reinforcer) สิ่งเร้าใดที่ไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราการตอบสนองเราเรียกว่าไม่ใช่ตัวเสริมแรง (Nonreinforcer)
      ค. ประเภทของตัวเสริมแรง ตัวเสริมแรงนั้นอาจแบ่งออกได้เป็น  ๒ ลักษณะคือ อาจแบ่งเป็นตัวเสริมแรงบวกกับตัวเสริมแรงลบ หรืออาจแบ่งได้เป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิกับตัวเสริมแรงทุติยภูมิ
     (๑)ตัวเสริมแรงทางบวก (Positive Reinforcer) หมายถึง สิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อได้รับหรือนำเข้ามาในสถานการณ์นั้นแล้วจะมีผลให้เกิดความพึงพอใจ และทำให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนแปลงไปในลักษณะเข้มข้นขึ้น   เช่น  อาหาร  คำชมเชย  ฯลฯ
     (๒)  ตัวเสริมแรงลบ (Negative Reinforcer) หมายถึง สิ่งเร้าชนิดใดชนิดหนึ่ง ซึ่งเมื่อตัดออกไปจากสถานการณ์นั้นแล้ว จะมีผลให้อัตราการตอบสนองเปลี่ยนไปในลักษณะเข้มข้นขึ้น เช่น   เสียงดัง   แสงสว่างจ้า   คำตำหนิ   ร้อนหรือเย็นเกินไป  ฯลฯ
     (๓) ตัวเสริมแรงปฐมภูมิ (Primary  Reinforcer) เป็นสิ่งเร้าที่จะสนองความต้องการทางอินทรีย์โดยตรง ซึ่งเปรียบได้กับ UCS. ในทฤษฎีของพาฟลอฟ  เช่น เมื่อเกิดความต้องการอาหาร  อาหารก็จะเป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิที่จะลดความหิวลง เป็นต้น
     
       ลำดับขั้นของการลดแรงขับของตัวเสริมแรงปฐมภูมิ ดังนี้
        ก) ความไม่สมดุลย์ในอินทรีย์ ก่อให้เกิดความต้องการ
        ข) ความต้องการจะทำให้เกิดพลังหรือแรงขับ (drive) ที่จะก่อให้เกิดพฤติกรรม
        ค) มีพฤติกรรมเพื่อจะมุ่งสู่เป้าหมาย เพื่อให้ความต้องการได้รับการตอบสนอง
        ง) ถึงเป้าหมาย หรือได้รับสิ่งที่ต้องการ สิ่งที่ได้รับที่เป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิ ตัวเสริมแรงที่จะเป็นรางวัลที่จะมีผลให้อยากทำซ้ำ และมีพฤติกรรมที่เข้มข้นในกิจกรรมซ้ำ ๆ นั้น
     
      (๔) ตัวเสริมแรงทุติยภูมิ โดยปกติแล้วตัวเสริมแรงประเภทนี้เป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลาง (Natural Stimulus)  สิ่งเร้าที่เป็นกลางนี้ เมื่อนำเข้าคู่กับตัวเสริมแรงปฐมภูมิบ่อย ๆ เข้า    สิ่งเร้าซึ่งแต่เดิมเป็นกลางก็กลายเป็นตัวเสริมแรง และจะมีคุณสมบัติเช่นเดียวกับตัวเสริมแรงปฐมภูมิ เราเรียกตัวเสริมแรงชนิดนี้ว่า ตัวเสริมแรงทุติยภูมิ ตัวอย่างเช่น การทดลองของสกินเนอร์ โดยจะปรากฎว่า เมื่อหนูกดคานจะมีแสงไฟสว่างขึ้น และมีอาหารตกลงมา แสงไฟซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งเร้าที่เป็นกลาง ต่อมาเมื่อนำเข้าคู่กับอาหาร (ตัวเสริมแรงปฐมภูมิ) บ่อย ๆ แสงไฟก็จะกลายเป็นตัวเสริมแรงปฐมภูมิเช่นเดียวกับอาหาร แสงไฟจึงเป็นตัวเสริมแรงทุติยภูมิ
      (๕) ตารางกำหนดการเสริมแรง     (Schedules of Reinfarcement)      สภาพการณ์ที่สกินเนอร์พบว่าใช้ได้ผล ในการควบคุมอัตราการตอบสนองก็ถึงการกำหนดระยะเวลา (Schedules) ของการเสริมแรง การเสริมแรงแบ่งเป็น ๔ แบบด้วยกัน คือ
         ก)  Fixed Ratio เป็นแบบที่ผู้ทดลองจะกำหนดแน่นอนลงไปว่าจะให้การ  เสริมแรง ๑ ครั้ง ต่อการตอบสนองกี่ครั้ง หรือตอบสนองกี่ครั้งจึงจะให้รางวัล เช่น อาจกำหนดว่า ถ้ากดคานทุก ๆ ๕ ครั้ง จะให้อาหารหล่นลงมา ๑ ก้อน (นั้นคืออาหารจะหล่นลงมาเมื่อหนูกดคานครั้งที่ ๕, ๑๐, ๑๕, ๒๐.....)
         ข)  Variable Ratio เป็นแบบที่ผู้ทดลองไม่ได้กำหนดแน่นอนลงไปว่าจะต้องตอบสนองเท่านั้นเท่านี้ครั้งจึงจะได้รับตัวเสริมแรง เช่น อาจให้ตัวเสริมแรงหลังจากที่ผู้ถูกทดลองตอบสนอง ครั้งที่ ๔, , ๑๒, ๑๘, ๒๒..... เป็นต้น
         ค)  Fixed Interval เป็นแบบที่ผู้ทดลองกำหนดเวลาเป็นมาตรฐานว่าจะให้ตัวเสริมแรงเมื่อไร เช่น อาจกำหนดว่าจะให้ตัวเสริมแรงทุก ๆ ๕ นาที (คือให้ในนาทีที่ ๕, ๑๐, ๑๕, ๒๐.....)
         ง) Variable Interval เป็นแบบที่ผู้ทดลองไม่กำหนดให้แน่นอนลงไปว่าจะให้ตัวเสริมแรงเมื่อใด แต่กำหนดไว้อย่างกว้าง ๆ ว่าจะให้การเสริมแรงกี่ครั้ง เช่น อาจให้ตัวเสริมแรงในนาทีที่ ๔, , ๑๒, ๑๔..... เป็นต้น)
             
    ๒) ประโยชน์ที่ได้รับจากทฤษฎีนี้
     ก. ใช้ในการปลูกฝังพฤติกรรม (Shaping Behavior) หลักสำคัญของทฤษฎีการวางเงื่อนไขแบบการกระทำของสกินเนอร์ คือ เราสามารถควบคุมการตอบสนองได้ด้วยวิธีการเสริมแรง กล่าวคือ เราจะให้การเสริมแรงเฉพาะเมื่อมีการตอบสนองที่ต้องการ เพื่อให้กลายเป็นนิสัยติดตัวต่อไป อาจนำไปใช้ในการปลูกฝังบุคลิกภาพของบุคคลให้มีพฤติกรรมตามแบบที่ต้องการได้
     ข. ใช้วางเงื่อนไขเพื่อปรับปรุงพฤติกรรม การเสริมแรงมีส่วนช่วยให้คนเรามีพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ และขณะเดียวกันการไม่ให้การเสริมแรงก็จะช่วยให้ลดพฤติกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้เช่นเดียวกัน
    ค.ใช้ในการสร้างบทเรียนสำเร็จรูป (Programed Learning) หรือบทเรียนโปรแกรมและเครื่องสอน (Teaching Machine)                 
   
    ๓) การนำหลักการวางเงื่อนไขของสกินเนอร์ไปใช้ในการเรียนการสอน แนวคิดที่สำคัญประการหนึ่งที่ได้จากทฤษฎีของสกินเนอร์ คือ การตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม คือจะต้องตั้ง   จุดมุ่งหมายในรูปของพฤติกรรมที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น ถ้าต้องการฝึกให้ผู้เรียนเป็นบุคคลประเภทสร้างสรรค์ก็จะต้องระบุให้ชัดเจนว่าบุคคลประเภทดังกล่าวสามารถทำอะไรได้บ้าง หรือถ้าจะสอนให้นักเรียนเป็นนักประวัติศาสตร์ก็บอกได้ว่าเขาจะทำอะไรได้เมื่อเขาเรียนผ่านพ้นไปแล้ว ถ้าครูไม่สามารถตั้งจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรมได้ ครูก็ไม่อาจบอกได้ว่าผู้เรียนประสบผลสำเร็จในสิ่งที่มุ่งหวังหรือไม่ และที่สำคัญก็คือครูจะไม่อาจให้การเสริมแรงได้อย่างเหมาะสมเพราะไม่ทราบว่าจะให้การเสริมแรงหลังจากที่ผู้เรียนมีพฤติกรรมเช่นใด
    
     ทฤษฎีสัมพันธ์เชื่อมโยงของธอร์นไดด์
      ลักษณะสำคัญของทฤษฎีสัมพันธ์เชื่องโยงของ ธอร์นไดด์ มีดังนี้
       ๑)  ลักษณะการเรียนรู้แบบลองผิดลองถูก (Trial and Eror)
       ๒)  กฎการเรียนรู้ของ ธอร์นไดด์
      
      ธอร์นไดด์ ได้เห็นกฎการเรียนรู้ที่สำคัญ  ๓  กฎด้วยกันคือ กฎแห่งความพร้อม (Low of Readiness) กฎแห่งการฝึกหัด (Low of Exercise) และกฎแห่งพอใจ (Low of Effect)
          ก. กฎแห่งความพร้อม  กฎข้อนี้มีใจความสรุปว่า
             -   เมื่อบุคคลพร้อมที่จะทำแล้วได้ทำ เขาย่อมเกิดความพอใจ
             -  เมื่อบุคคลพร้อมที่จะทำแล้วไม่ได้ทำ เขาย่อมเกิดความไม่พอใจ
             -  เมื่อบุคคลไม่พร้อมที่จะทำแต่เขาต้องทำ เขาย่อมเกิดความไม่พอใจ
           
         ข. กฎแห่งการฝึกหัด  แบ่งเป็น  ๒  กฎย่อย คือ
            -  กฎแห่งการได้ใช้ (Law of Use) มีใจความว่าพันธะหรือตัวเชื่อมระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองจะเข้มแข็งขึ้นเมื่อได้ทำบ่อย ๆ
            - กฎแห่งการไม่ได้ใช้ (Law of Disuse) มีใจความว่าพันธะหรือตัวเชื่อมระหว่างสิ่งเร้า และการตอบสนองจะอ่อนกำลังลง   เมื่อไม่ได้กระทำอย่างต่อเนื่องมีการขาดตอนหรือไม่ได้ทำบ่อย ๆ
             
        ค. กฎแห่งความพอใจ
          กฎข้อนี้นับว่าเป็นกฎที่สำคัญและได้รับความสนใจจาก ธอร์นไดด์  มากที่สุด   กฎนี้มีใจความว่า พันธะหรือตัวเชื่อมระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนองจะเข้มแข็งหรืออ่อนกำลังย่อมขึ้นอยู่กับผลต่อเนื่องหลังจากที่ได้ตอบสนองไปแล้วรางวัลจะมีผลให้พันธะสิ่งเร้าและการตอบสนองเข้มแข็งขึ้น ส่วนการทำโทษนั้นจะไม่มีผลใด ๆ ต่อความเข้มแข็งหรือการอ่อนกำลังของพันธะระหว่างสิ่งเร้าและการตอบสนอง

Share

Twitter Delicious Facebook Digg Stumbleupon Favorites More